เรียนต่อคุ้มไหม ถามใจเธอดู ?
- FINVEST
- 18 ก.ย. 2562
- ยาว 1 นาที
“เรียนสูง ๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน” คำคมที่ถูกส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น วันนี้ FINVEST จะมาถอดรหัสว่า ยิ่งเรียนสูง จะยิ่งมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานจริงหรือไม่ . ก่อนอื่น ทุกคนคงยอมรับว่า การจบปริญญาตรีเป็นเรื่องพื้นฐานที่จะช่วยหางานดี ๆ ในตลาดแรงงาน แต่เศรษฐกิจแบบนี้ เงินเดือนสำหรับนักศึกษาจบปริญญาตรีก็น้อยเสียเหลือเกิน ไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายด้วยซ้ำ วิธีหนึ่งที่พอจะช่วยเพิ่มมูลค่าของเรา (รวมไปถึงเงินเดือน) ที่หลาย ๆ คนเลือกทำ ก็คือการเรียนต่อปริญญาโทต่อไปจนถึงปริญญาเอก แต่การเรียนย่อมมีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การศึกษา ค่ากินอยู่ที่จะเพิ่มขึ้นมาหากไปเรียนต่อต่างประเทศ รวมไปถึง เงินเดือนที่จะเสียไปในช่วงศึกษาต่อ . วันนี้ FINVEST จะมาช่วยไขปัญหานี้ให้กับเพื่อน ๆ ที่กำลังอยากเรียนต่อเพื่อความก้าวหน้าทุก ๆ คนครับ
ต้นทุนการเรียนต่อ = ค่าเรียน (รวมค่าอุปกรณ์การศึกษา) + เงินเดือนที่จะไม่ได้ช่วงเรียนต่อทั้งหมด (อย่าลืมว่าเงินเดือนอาจเติบโตขึ้น)

ผลตอบแทนจากการเรียนต่อ = เงินเดือนส่วนที่จะเพิ่มขึ้น (อย่าลืมว่าหากไม่เรียนต่อ เงินเดือนก็เติบโตขึ้นอยู่แล้ว)
จากนั้น เราจะหา จำนวนเดือนที่เราต้องทำงานใหม่เพื่อถอนทุนการเรียนต่อครั้งนี้ = ต้นทุน/ผลตอบแทน
เพื่อน ๆ ก็สามารถลองพิจารณาดูได้ว่า หากใช้เวลาขนาดนี้เพื่อถอนทุนคืน เทียบกับอายุของเรา เราโอเคไหม

เราลองมาดูตัวอย่างการคำนวณจริงกันครับ
ปัจจุบัน ปีติได้รับเงินเดือน 45,000 บาทต่อเดือน โดยมีอัตราการเติบโตของเงินเดือนอยู่ที่ 5% ต่อปี ปีติอยากไปเรียนต่อ โดยค่าใช้จ่ายรวมในการเรียนต่อทั้งหมด 400,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี โดยคาดว่า หลังจบการศึกษา จะสามารถเรียกเงินเดือนได้ 65,000 บาท
ต้นทุน = 400,000 + (45,000 x 12 + 47,250 x 12) = 1,534,000 บาท

ผลตอบแทน = 65,000 – 49,500 (เงินเดือนใหม่ในปีที่ 2 ที่น่าจะได้หากไม่ได้เรียนต่อ) = 15,500
จำนวนเดือนที่จะคืนทุน = 1,534,000/9,000 = 99 เดือน หรือ 8 ปี 3 เดือน
ทีนี้คุณปีติอาจจะต้องมาดูก่อนว่าตัวเองอายุเท่าไหร่ ยังจะทำงานไปอีกกี่ปี เพราะกว่าการเรียนต่อจะคุ้มค่า ก็ต้องใช้เวลา 8 ปี ถ้าคิดว่าโอเค ก็ลุยได้เลย
สมมุติว่า คุณปีติอายุ 25 ปี และคิดว่าจะทำงานต่อไปอีก 30 ปี แปลว่าคุณปีติจะใช้เวลา 8 ปีในการถอนทุนคืนจากการเรียนต่อ และสามารถทำงาน (ที่เงินเดือนสูงขึ้น) ต่อจากนั้นไปอีก 22 ปี ก็นับได้ว่าค่อนข้างคุ้มค่า
แต่หากสมมุติว่า คุณปีติอายุ 45 ปี และคิดว่าจะทำงานต่อไปอีก 12 ปี แปลว่าหลังจากคุณปีติถอนทุนคืนใน 8 ปี ก็สามารถทำงานนั้นต่อไปอีกเพียง 4 ปี คุณปีติก็อาจจะต้องลองคิดดูว่าเงินเดือนที่เพิ่มมาในช่วง 4 ปีสุดท้ายนี้จะคุ้มค่าหรือไม่

จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ทำให้การเรียนต่อคุ้มค่าเงินมีอยู่หลัก ๆ 3 ปัจจัย คือ
ปัจจัยแรก คือ ค่าเรียน หากค่าเรียนถูก ก็จะทำให้เราคืนทุนได้เร็วขึ้น แต่หลักสูตรที่ค่าเรียนถูกก็อาจจะไม่มีประโยชน์เท่าไหร่ และอาจไม่ได้ช่วยเพิ่มเงินเดือนได้มากนัก
ปัจจัยที่สอง คือ เงินเดือนของงานใหม่ ยิ่งงานใหม่เพิ่มเงินเดือนให้มาก เราก็ยิ่งคืนทุนได้เร็วขึ้น แต่วิธีนี้ เราก็ต้องเลือกเรียนต่อในสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือสาขาที่จะช่วยให้เลื่อนสู่ระดับบริหาร วิธีนี้เป็นวิธีที่สร้างความแข็งแกร่งในระยะยาว เพราะทำให้มีฐานเงินเดือนสูงขึ้น สามารถเติบโตต่อไปในสายงานได้อย่างยั่งยืน
ปัจจัยที่สาม คือ อายุ หากเรายังอายุน้อย หมายความว่าหลังเราคืนทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด เราก็อาจจะยังสามารถทำงานใหม่ที่ได้เงินเดือน (ที่สูงขึ้น) นั้น ต่อไปได้เรื่อย ๆ แต่หากเราอายุมาก เราอาจจะมีเวลาทำงานต่อไปอีกไม่นาน เผลอ ๆ อาจจะเกษียณก่อนที่เราจะคืนทุนอีก ก็อาจจะไม่คุ้มที่จะเรียนต่อ
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเรียนต่อนั้นไม่ได้สร้างประโยชน์เป็นมูลค่าตัวเงินอย่างเดียว แต่อาจสร้างเกียรติยศในสังคม ทำให้ได้รับการยอมรับนับหน้าถือตาในที่ทำงาน ทำให้ได้เพื่อนหรือคอนเน็กชั่นใหม่ ๆ ทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ หรือแม้แต่ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจ ได้เจอกับงานในฝันงานใหม่ก็เป็นได้ ก่อนตัดสินใจ FINVEST ก็อยากให้เพื่อน ๆ พิจารณาประโยชน์ที่ไม่ได้เป็นตัวเงินอื่น ๆ ประกอบด้วยครับ

Comentários