สามเหลี่ยมการเงิน
- FINVEST
- 18 ก.ย. 2562
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 19 ก.ย. 2562
เพื่อน ๆ หลายคนที่ต้องการวางแผนการเงิน แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี ควรอ่านโพสต์นี้!!! FINVEST มีของดีมานำเสนอ . ก่อนอื่น พอพูดถึงการวางแผนการเงิน เพื่อน ๆ หลายคนอาจคิดว่า การวางแผนการเงิน หมายถึง การเก็บเงินและนำเงินไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ ไม่ว่าจะในหุ้น หรือในกองทุน หรือในหวย? FINVEST อยากบอกตรงนี้เลยว่าความเข้าใจนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก . ในความเป็นจริงแล้วนั้น การวางแผนการเงินประกอบด้วยหลายมิติ หลายขั้นตอน เพื่อไม่ให้เพื่อน ๆ งง FINVEST ขอนำเสนอการวางแผนการเงิน โดยใช้โมเดลที่เรียกว่า สามเหลี่ยมการเงิน หรือเรียกเก๋ ๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า Financial Pyramid โดยสามเหลี่ยมการเงินจะประกอบไปด้วย 3 ชั้น (อย่าลืมดูภาพประกอบด้วยนะ) . ฐานของสามเหลี่ยม เปรียบเสมือนฐานการเงินของเราทุกคน ซึ่ง FINVEST ขอเรียกว่า ปกป้อง หมายถึงการเตรียมเงินเพื่อปกป้องตัวเอง ปกป้องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตและทรัพย์สิน ประกอบด้วยสองส่วน คือ เงินออมสำรองฉุกเฉิน ซึ่งควรมีไว้ประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน โดยเฉพาะถ้าเพื่อน ๆ ทำงานที่ได้รายได้ไม่แน่นอน เช่น ฟรีแลนซ์ อาจต้องเตรียมไว้ถึง 12 เท่าเลยทีเดียว เงินนี้ถ้าคิดง่าย ๆ คือ เงินที่เตรียมไว้ใช้ช่วงตกงาน ไม่มีรายได้ และฐานการเงินอีกส่วนหนึ่งก็คือ ประกัน ซึ่งช่วยเราจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต สุขภาพ หรือทรัพย์สินของเรา โดยย้ายความเสี่ยงไปให้กับบริษัทประกันนั่นเอง . ชั้นกลางของสามเหลี่ยม FINVEST ขอเรียกว่า สะสม หมายถึงการสะสม (ออมและลงทุน) เงินของเราเพื่อเป้าหมาย (หรือกิเลส) ในชีวิต เป้าหมายหลัก ๆ ที่เราต้องสะสมเงินมีทั้งหมด 4 อย่าง คือ บ้าน รถ ลูก เกษียณ แต่ละเป้าหมายก็จะแตกต่างกันในเรื่องของวิธีการออมและลงทุน เป้าหมายที่ระยะสั้น เช่น รถ หรือบ้าน อาจจะต้องออมเงินในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ แต่เป้าหมายที่ระยะยาว เช่น ลูก หรือเกษียณ ก็สามารถสะสมในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมาขึ้น เช่น หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ หากเพื่อน ๆ สนใจรายละเอียด สามารถติดตามอ่านโพสต์ต่อไปของ FINVEST ได้นะ . ยอดของสามเหลี่ยม FINVEST ขอเรียกว่า ต่อยอด ส่วนนี้คือการนำเงินส่วนที่เหลือจากการปกป้องตัวเรา และกิเลสทั้งหลายมาต่อยอด ด้วยการลงทุนที่อาจจะเสี่ยงขึ้นมาสักหน่อย เช่น หุ้น ตราสารอนุพันธ์ สินค้าโภคภัณฑ์ ผลตอบแทนที่ได้มักจะสูงมาก แต่หากขาดทุนก็จะหนักมากเช่นกัน แต่หากเรามีฐานรากที่แข็งแรง หากสูญเงินในส่วนนี้ไป ก็จะไม่กระทบต่อสุขภาพการเงินของเรามากนัก เงินในส่วนนี้ตามปกติก็จะตกเป็นมรดกให้แก่ลูกหลาน . อ่านถึงตรงนี้ เพื่อน ๆ คงจะรู้แล้วว่า ทำไมการนำเงินไปลงทุนทันทีจึงไม่ใช่การวางแผนทางการเงินที่ดีนัก ใช่แล้ว เพราะเพื่อน ๆ กำลังกลับหัวสามเหลี่ยมการเงินของเรานั่นเอง . สามเหลี่ยมต้องมีฐานรากที่มั่นคงฉันใด การวางแผนการเงินของเพื่อน ๆ ก็ต้องมีฐานรากที่มั่นคงฉันนั้น ก่อนจากกันไป FINVEST อยากให้เพื่อน ๆ เริ่มตรวจสอบฐานสามเหลี่ยมการเงินของเพื่อน ๆ เลย ตรวจสอบเสร็จแล้ว อย่าลืมกดไลก์ กดแชร์ ติดตามตอนต่อไปของการวางแผนการเงินด้วยนะ.

Comments