อยากลดภาษี ต้องซื้อกองทุนหรือประกัน?
- FINVEST
- 20 ก.ย. 2562
- ยาว 1 นาที
พอถึงปลายปี เพื่อน ๆ มนุษย์เงินเดือนก็คงจะมีคำถามให้ได้คิดว่า อยากลดหย่อนภาษี แต่ไม่แน่ใจว่าควรจะซื้อประกันก่อน หรือ LTF ก่อน หรือ RMF ดี เพื่อนหลาย ๆ คนก็อาจจะไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตัวเองซื้ออยู่ เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดหย่อนภาษีหรือไม่ . วันนี้ FINVEST จะมาช่วยไขข้อข้องใจให้กับเพื่อน ๆ ทุกคนครับ ก่อนอื่นอยากให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักผลิตภัณฑ์ทางการเงิน 5 ผลิตภัณฑ์ที่เราสามารถซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ได้ คือ . 1. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือกองทุน LTF เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่ากองทุน เงินลงทุนในกองทุน LTF ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้จะต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และต้องไม่เกิน 500,000 บาท และจะต้องถือหน่วยลงทุน LTF เป็นระยะเวลา 7 ปีปฏิทิน (5-6 ปี) โดยกองทุน LTF จะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีในปี 2562 เป็นปีสุดท้าย . 2. กองทุนรวมหุ้นยั่งยืน หรือกองทุน SEF เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นยั่งยืน และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Infrastructure Fund) หุ้นไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่ากองทุน เงินลงทุนในกองทุน SEF ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้จะต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และต้องไม่เกิน 250,000 บาท และจะต้องถือหน่วยลงทุน SEF เป็นระยะเวลา 7 ปีปฏิทิน (5-6 ปี) โดยกองทุน SEF จะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีในปี 2563 เป็นปีแรกแทนกองทุน LTF . 3. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือกองทุน RMF เป็นกองทุนที่ส่งเสริมให้ออมเงินระยะยาวสำหรับยามเกษียณ นโยบายการลงทุนของ RMF จะหลากหลายกว่า LTF มีทั้งลงทุนในหุ้น พันธบัตรรัฐบาล ตลาดเงิน ตราสารหนี้เอกชน ทองคำ เป็นต้น เงินลงทุนในกองทุน RMF ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้จะต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. และประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้ เมื่อเริ่มลงทุนในกองทุน RMF แล้ว จะต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี โดยสามารถลงทุนปีเว้นปีได้ อย่างน้อยปีละ 3% ของเงินได้ หรือ 5,000 บาท และสามารถขายคืนได้เมื่อมีอายุครบ 55 ปีหรือลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ซื้อครั้งแรก . 4. ประกันชีวิต ประกันชีวิตที่สามารถลดหย่อนภาษีได้จะต้องให้ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และมีผลตอบแทนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี โดยใช้เบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายจริงมาลดหย่อนภาษี แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท และห้ามเวนคืนหรือยกเลิกกรมธรรม์ก่อนครบสัญญา หากเวนคืนหรือยกเลิก จะต้องคืนภาษีและเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีให้กรมสรรพากร ประกันชีวิตมี 3 ประเภท คือ - ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เน้นความคุ้มครองระยะยาว โดยจ่ายเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วให้ความคุ้มครองตลอดชีพ เหมาะสำหรับผู้ที่เน้นความคุ้มครอง ไม่เน้นผลตอบแทน - ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา เน้นความคุ้มครองระยะสั้น โดนส่วนใหญ่จ่ายเบี้ยแบบปีต่อปี เบี้ยประกันค่อนข้างต่ำ และไม่สามารถเวนคืนได้ เหมาะสำหรับผู้ที่เน้นความคุ้มครอง และต้องการจ่ายเบี้ยประกันถูก - ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เน้นการออมเงิน โดยจะได้รับผลตอบแทนหลังกรมธรรม์สิ้นสุดลง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินมากกว่าความคุ้มครอง . 5. ประกันชีวิตแบบบำนาญ คือ ประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินเพื่อยามเกษียณ โดยจะต้องจ่ายเบี้ยประกันทุกปีติดต่อไประยะเวลาหนึ่ง เมื่อเกษียณก็จะได้รับเงินคืนจากประกันต่อเนื่องทุกปี ติดต่อไประยะเวลาหนึ่ง ประกันชีวิตแบบบำนาญที่สามารถลดหย่อนภาษีจะต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และต้องจ่ายผลประโยชน์สม่ำเสมอ เมื่อผู้เอาประกันอายุครบ 55 ปีขึ้นไป เบี้ยประกันต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ และไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (กองทุน RMF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท . หลังจากเพื่อน ๆ ได้รู้จักผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สำคัญทั้ง 5 อย่างแล้ว หากเพื่อน ๆ มีเงินก้อนหนึ่งที่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ ให้ลองใช้แผนภาพของ FINVEST ช่วยในการตัดสินใจว่า เพื่อน ๆ เหมาะกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินใดมากกว่า โดยอย่าลืมว่าแต่ละคนอาจมีเงินหลายก้อน เช่น ปีติอาจมีเงินสองก้อน ก้อนหนึ่งสามารถถือได้จนอายุ 60 ปี อีกก้อนอาจจะอยากถอนออกมาหลังจากเก็บไว้ 10 ปี ปีติก็สามารถพิจารณาเงินทีละก้อนด้วยแผนภาพของ FINVEST ครับ

Comments